ประวัติความเป็นมา



ประวัติสาขาภาษาอังกฤษธุรกิจ

           สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจได้รับการอนุมัติให้เปิดการเรียนการสอน ตามความต้องการของภาคธุรกิจในช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง ในช่วงปีพุทธศักราช 2539 สาขาวิชาได้รับการพัฒนาและปรับปรุงมาโดยลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สภาพสังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จนได้รับการยอมรับและความพึงพอใจจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงบริษัทข้ามชาติ


ข้อมูลทั่วไป

           หลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ จัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพ ทั้งในด้านความรู้พื้นฐาน และความรูที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับงานธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ เป็นสาขาที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงในเชิงทักษะวิชาชีพ ความต้องการของหน่วยงานระดับชาติและนานาชาติ บัณฑิตของสาขาวิชา เป็นผู้มีความรู้และทักษะ พร้อมที่จะเข้าสู่งานวิชาชีพไม่ว่าจะเป็น งานโฆษณา การตลาด งานขาย การบริหารจัดการขนส่ง สายการบิน บริหารทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงงานมัคคุเทศก์ เลขานุการ และพนักงานต้อนรับ โดยได้ผ่านการฝึกฝน ฝึกหัด และอบรมในศาสตร์ต่างๆ  มีการพัฒนาด้านภาษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทักษะวิชาชีพ ดังที่ได้กล่าวแล้ว และพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของตลาดแรงงาน

 

เกี่่ยวกับหลักสูตร

           นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2จะเรียนและฝึกฝนเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น เกี่ยวกับภาษาอังกฤษธุรกิจขั้นพื้นฐาน และการสื่อสารทางธุรกิจ ในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 จะเป็นการฝึกทักษะที่เกี่ยวกับวิชาชีพ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ ทั้งในด้าน การสื่อสาร การบริหารจัดการ การแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม ซึ่งได้รับการบูรณาการ ผ่านรายวิชาต่างๆ รวมถึงการฝึกงานในสถานประกอบการจริง เพื่อพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และสร้างความคุ้นเคยกับวิชาชีพ 

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2564 ฉบับนี้ จัดทำขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษา เรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 เพื่อเป็นแนวทางในการกําหนดเป้าหมายในการจัดการศึกษาของหลักสูตรฯและในการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตรฯ ตลอดจนการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

เพื่อให้สามารถปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม ตลาดแรงงาน และสภาพเศรษฐกิจของประเทศ หลักสูตรฯได้จัดการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิต อันประกอบด้วย ศิษย์เก่า และผู้ใช้บัณฑิตจากสถานประกอบการต่างๆ ตลอดจนศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564  แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 และแนวโน้ม ความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งมีการปรับปรุงหมวดวิชาศึกษาทั่วไป วิชาแกน และวิชาเฉพาะด้าน โดยปรับรหัสวิชา และคําอธิบายรายวิชาให้มีความเหมาะสม ตลอดจนมีการเพิ่มรายวิชาใหม่ที่มีความทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการของสังคมปัจจุบัน อีกทั้งมุ่งเน้นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง  

โอกาสในการประกอบอาชีพ

           ด้วยการจัดการเรียนการสอน แบบเข้มข้นโดยเน้นภาษาอังกฤษและวิชาชีพ บัณฑิตของสาขาวิชา สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายในองค์กรต่างๆ  โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการมิติความเข้าใจ ในด้านความเป็นสากล บัณฑิตของสาขาวิชาได้รับการจ้างงาน มีความก้าวหน้าในอาชีพในทุกองค์กร และได้รับความพึงพอใจจากผู้จ้างงานในระดับสูง